วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

กว่าจะได้วิทยะฐานะ

พฤษภาคม 30, 2566 0 Comments

 


 
    ก่อนอื่นต้องแนะนำตัวให้กับเพื่อนๆได้รู้จักพอสังเขป กระผม นายจีระพันธ์ กาฬปักษี ปัจจุบันรับราชการ อาศัยเงินภาษีของพี่น้องประชาชนในการใช้จ่ายประทังชีพ ในตำแหน่ง ครู ก่อนอื่นเลยขอย้อนอดีต เล่าความหลังเพื่อให้พี่ๆน้องได้เข้าใจเจตนารม และตัวตนของผู้เขียนเอง ขอรบกวนเวลาพี่น้องสักสองสามบรรทัดคงไม่ว่ากระไร

    เมื่อปี พ.ศ.2559 ผมได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย ในสาขาวิชาสังคมศึกษา ในปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการบริหารทางการศึกษาขนานใหญ่ มีการยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ยุบเลิก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จากนั้นมีการตั้ง คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเข้ามาดูแลด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู โดยการรวมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาเดียวกัน มีการเปลี่ยนรูปแบบการประเมินเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยะฐานะ จาก ว17/2552 เป็น ว21/2560 มีการให้ครูอบรมครูปองครู อะไรต่างๆนาๆ

    เดิมที ผมมีความต้องการที่จะสอบบรรจุเป็นครูมัธยม เพราะด้วยความร้อนวิชา หรืออะไรทำไม ทว่าโชคชะตาไม่ได้เป็นดั่งที่ตั้งใจไว้ เหมือนเราหมายปองหญิงสาวคนหนึ่งแต่มีเหตุอันไม่สามารถควบคุมได้ทำให้เราได้กับหญิงสาวอีกคน เอาละครับออกนอกนทะเลไปเสียไกล ที่เป็นดั่งนี้เพราะเรารวมเขตประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเข้าด้วยกัน เป็นบัญชีจังหวัด ไม่สามารถเลือกสอบได้ ขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้าลิขิต 

    ผมได้ตัดสินใจสอบที่จังหวัดที่ได้ล่ำเรียนจบมา นั่นคือจังหวัดเลยนี้เอง รับวิชาเอกสังคมศึกษา จำนวน 4 ตำแหน่ง มีมัธยม 1 โรงเรียน ที่เหลือ 3 เป็นประถม กับผู้สมัคร 827 คน สมัยนั้นภาคเหนือไม่เปิดสอบเพราะบัญชียังไม่หมดอายุ จึงทำให้โซนภาคเหนือมาสมัครสอบที่จังหวัดเลย

    ชะตาฟ้าลิขิต ให้สอบบรรจุได้ในลำดับที่ 2 ของจังหวัดเลย ในปี พ.ศ.2559 จึงไม่สามารถเลือกโรงเรียนมัธยมศึกษาได้ จึงได้มารายงานตัวและบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่ง ครูผู้ช่วย ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอปากชม คลื่นมือถือไม่มี การเดินทางไม่สะดวก บ้านพักเป็นหลังไม้เก่าๆ ตั้งแต่สมัยผมยังไม่เกิด หลังคาก็รั่ว 

    พอผ่านการประเมินอย่างเข้มในตำแหน่งครูผู้ช่วย ก็ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ครู จากคำสั่งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเลย มาถึงตอนนี้ เขาเปลี่ยนเกณฑ์การขอมีหรือเลื่อนวิทยะฐานะ จาก ว17/2553 เป็น ว21/2560 ผมก็ได้เตรียมความพร้อม มีการเก็บชั่วโมงการอบรม เดิมปีกระทรวงศึกษาให้คูปองอบรมคนละ 10,000 บาท เลือกอบรมตามความสนใจ ปีต่อมาไม่มีงบประมาณให้ เปลี่ยนเป็นอบรมออนไลน์แทน ข้าพเจ้าก็อบรมออนไลน์ พอสิ้นปีการศึกษาก็มีการขอคณะกรรมการกลั่นกรองจากโรงเรียนข้างเคียง 

   ผมได้เก็บผลการประเมินมาสามปีการศึกษา ก็ได้มีการเปลี่ยนเกณฑ์การขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะใหม่ จาก ว21/2560 เป็น ว9/2564 งงละสิครับทีนี้ว่าจะเอายังไงดีกับชีวิต ผมขอสบถเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยคำว่า (ขอเกษียณที่ คศ.1 ชะบ้อละคือทรงยากตายมันแท้) สรุปได้ว่าผมไม่สามารถส่งขอมี ว21 เพียวได้เพราะอายุราชการขาดไป 4 วัน 

    ฉะนั้นแล้วผมจึงได้เตรียมวางแผน ว่าจะส่งวันที่ 5 ตุลาคม 2565 จากนั้นก็เริ่มอ่านคู่มือ โดยไม่ได้เข้าอบรมจากวิทยากรจากทางไหน เพราะว่าเป็นเกณฑ์การประเมินรูปแบบใหม่ ทุกคนต้องงมๆซาวๆเอากันเอาเอง ผมก็ใช้เวลาในการศึกษาคู่มือสักพักใหญ่ จากนั้นแล้วเริ่มเตรียมเอกสาร คือผมใช้ผลการประเมิน ว21 จำนวน 2 ปีการศึกษา + ผลการประเมิน PA จำนวน 1 รอบการประเมิน บวก คลิปแรงบันดาลใจ คลิปการสอน แผนการสอน ผลลัพธ์จากการสอนนักเรียน สื่อ ใบงาน แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือคลิปการสอน ถ่ายหลายรอบมาก เพราะเป็นนักเรียน ป.3 บางครั้งห้องข้างๆเข้ามาแอบดูบ้าง ผู้ปกครองมาขอพบลูกบ้าง จนนักเรียนท้อ นักเรียนเหนื่อย ก็แอบสงสารนักเรียน

    วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ก็ได้ทำการยื่นผ่านระบบ DPA และกดส่ง จากนั้นก็รอแล้วรออีกเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายงานจาก กศจ.ไปสู่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา อีกรอบจนกระทั้งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ในระบบก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นตรวจสอบคุณสมบัติครบ 24 มีนาคม 2566 ระบบสุ่มกรรมการผู้ประเมิน 24 เมษายน 2566 ระบบแจ้งรับรองผลการประเมิน และ 30 พฤษภาคม 2566 ได้รับคำสั่งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 ให้มีหรือเลื่อนวิทยะฐานะครูชำนาญการ นี้ก็เป็นเรื่องราวของครูผู้น้อย กว่าจะได้ครูชำนาญการก็ยากเย็นแสนเข็ญ และขอเป็นกำลังใจให้ก้บพี่น้องที่กำลังส่งยื่นขอทุกคน สำหรับบทความนี้ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ พบกันใหม่ในโอกาสหน้า ผิดถูกประการใดก็ขออภัยมณี สินธุ์สมุทร สุดสาคร ตลอดจนนางเงือก สุดท้ายนี้ขอกล่าวคำว่า สวัสดีครับ   

   

ลำดับขั้นตอนในการผลิต

พฤษภาคม 30, 2566 0 Comments

ลำดับขั้นตอนในการผลิต มีดังนี้ 


1. การผลิตขั้นแรกหรือขั้นปฐมภูมิ (primary production)

2. การผลิตขั้นที่สองหรือขั้นทุติยภูมิ (secondary production)

3. การผลิตขั้นที่สามหรือขั้นตติยภูมิ (tertiary production)