วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: บ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ธันวาคม 10, 2557 0 Comments

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: บ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย


คณะผู้ศึกษา

     1.นายจีระพันธ์  โชติวัฒนานุสรณ์
     2.นายธนกร   เคหารมย์
      3.นางสาวสุมลรัตน์  คุณทะวงษ์

อาจารย์ที่ปรึกษา: อาจารย์วีระนุช แย้มยิ้ม (สาขาสังคมศึกษา)
                    อาจารย์นันทพร  กงภูเวช (ภาควิชาบริหารการศึกษา) 

คำปรารภ


          ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกศิษย์คนหนึ่ง ให้เขียนคำปรารภให้กับหนังสือเล่มแรกของเขา ในที่แรกข้าพเจ้ารู้สึกตกใจนิดหน่อยกับสิ่งที่ลูกศิษย์เอ่ยปากออกมา เพราะบุคคลที่จะเขียนคำปรารภให้แก่กันต้องเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้รู้ หรือเป็นบุคคลที่มีวัยวุฒิ และคุณวุฒิพอสมควร แต่อีกใจกับรู้สึกเป็นเกียรติแก่ตนเองอย่างมากที่ลูกศิษย์คนนี้แสดงให้เราเห็นว่าเขามีศรัทธาในตัวเรา ดังนั้นความรู้สึกของข้าพเจ้าที่กำลังเขียนคำปรารภนี้จึงตื่นเต้นเป็นธรรมดา เพราะด้วยความที่เราเป็นครูมือใหม่ที่จะได้เขียนคำปรารภให้กับนักเขียนคนใหม่นั้นเอง
         หนังสือเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น:ชุมชนนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลยนี้ เป็นการรวบรวมเนื้อหาและคำบอกเล่าจากผู้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านนาอ้อในเชิงวิเคราะห์จากมุมมองของบุคคลภายนอกที่ได้รับรู้ข้อมูลมาจากการศึกษา โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ลงไปศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยการเก็บข้อมูลจากการสอบถามชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และผู้รู้ในชุมชน การสัมภาษณ์ การสังเกต และการอ่านบันทึกต่างๆ จึงทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีคุณภาพและมีคุณค่าอีกเล่มหนึ่งในสายตาของข้าพเจ้า เพราะผู้เขียนมีความรักและความทุ่มเทให้กับการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
          ข้าพเจ้าอยากให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ ได้ให้โอกาสแก่นักเขียนมือใหม่ที่มีหัวใจต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบเต็มร้อยอย่างน่ายกย่อง เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้เขียน เป็นการทำทานด้านความรู้แก่บุคคลที่สนใจ และเพื่อเป็นการตอบแทนการทุ่มเทด้วยใจของเขา ซึ่งหากหนังสือเล่มนี้มีข้อผิดพลาดอย่างไรนั้นจะเป็นการดีมากที่ผู้เขียนจะได้รับการวิพากษ์จากท่านด้วยเหตุและผลซึ่งข้าพเจ้ามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เขียนมือใหม่คนนี้ยินดีรับฟังการวิพากษ์จากท่านอย่างแน่นอน

 

(อาจารย์วีระนุช แย้มยิ้ม)
                   สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
คำนำ
    การศึกษาประวัติศาสตร์บ้านนาอ้อ ปัจจุบันมีผลงานปรากฏออกมาไม่มากนักและแต่ละชิ้นขาดความชัดเจนทางประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่มีผู้ใดได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์นาอ้ออย่างชัดเจน ทั้งๆที่ชุมชนนาอ้อมีความโดดเด่นทั้งด้านวัฒนธรรม ด้านภาษา และมีประวัติความเป็นมามานานกว่า 400 ปี ยังคงปรากฏหลักฐานให้ศึกษาอยู่จำนวนไม่น้อย หากมีการศึกษาประวัติชุมชนนาอ้ออย่างชัดเจนจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมทั้งทำให้ผู้คนมีความเข้าใจความเป็นมา เกิดความรักสามัคคี กลมเกลียว และภูมิใจในท้องถิ่นของตน เนื่องจากมีประวัติศาสตร์เป็นของตนเองที่มองจากชุมชนท้องถิ่นสู่ภายนอกอย่างแท้จริง
          หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การนำเสนอเพื่อ ล้มล้าง” งานบุกเบิกเรื่องประวัติศาสตร์บ้านนาอ้อของครูบาอาจารย์ประวัติศาสตร์รุ่นก่อน ๆ ไม่ หากแต่เป็นการนำเสนอ มุมมอง” ในการวิเคราะห์และตีความประวัติศาสตร์โดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างออกไป การรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์จึงต้องรับทราบทั้งความขัดแย้งและความสอดคล้องในหลักฐาน การตีความและการนำเสนอ      
          ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาจึงได้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ของชุมชนนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ในลักษณะเชิงวิเคราะห์และตีความ ซึ่งสอดรับกับความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เป็นสำคัญ  เพื่อขยายองค์ความรู้ให้กับท้องถิ่นและสังคมไทย

.วัตถุประสงค์การศึกษา
        ๑.๑ เพื่อรวบรวมเรื่องราวประวัติความเป็นมาให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างถูกต้อง
        ๑.๒ เพื่อเสนอประวัติศาสตร์นาอ้อด้วยการวิเคราะห์
        ๑.๓ เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจศึกษา
        ๑.๔ เพื่อจุดประเด็นในการให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.วิธีการศึกษา
          การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: บ้านนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ในครั้งนี้ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการศึกษา



.สภาพทางภูมิศาสตร์
          บ้านนาอ้อ เป็นหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดเลย ตั้งอยู่ละติจูดที่ ๑๗ องศา ๕๗ ลิปดา เหนือ  กับละติจูดที่ ๑๐๑ องศา ๔๒ ลิปดาตะวันออก
          ทิศเหนือติดกับ บ้านท่ามะนาว และบ้านนาโคก
          ทิศใต้ติดกับ บ้านโพนค่าย บ้านหนองมะผาง
          ทิศตะวันตกติดกับ บ้านนาโคก
          ทิศตะวันออกติดกับ บ้านโพนค่าย

.การตั้งถิ่นฐาน
          บ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย แต่เดิมเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มานานกว่า ๓๐๐ ปี ชาวนาอ้อมีเลือดเนื้อเชื้อสายลาว “เผ่าลื้อ” อพยพจากหลวงพระบางและเวียงจันทร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการปกครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดังนั้นวัฒนธรรม การพูดและภาษาจึงมีลักษณะใกล้เคียงกับชาวลาวหลวงพระบาง ชาวนาอ้อเริ่มมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยเมื่อประมาณปี          พ.ศ.๒๒๓๖ ภายในบริเวณรอบหนองน้ำแห่งหนึ่งที่มีไม้ซุงลอยอยู่เต็มน้ำ ดังนั้นผู้นำสมัยนั้นได้ลงมติตั้งชื่อหมู่บ้าน ว่า บ้านวังขอน” คือบริเวณบ้านท่าบุง และบ้านปากหมากในปัจจุบันนี้เอง และได้ขยายครัวเรือนตามลำดับ
          จากจารึกวัดห้วยห้าวหลักที่ ๑ พบว่ากษัตริย์ล้านช้าง พระนามว่า สมเด็จพระโพธิวรวงศามหากษัตราธิราช ได้มีการสร้างวัดขึ้นชื่อว่าวัดห้วยห้าว เชื่อได้ว่าชาวนาอ้อกลุ่มหนึ่งอพยพมาพร้อมกับการสร้างวัดห้วยห้าว ใน พ.ศ.๒๑๕๐ -๒๑๙๑ ก็เป็นได้ จึงทำให้ชาวนาอ้อมีประวัติความเป็นมามากกว่า ๔๕๐ ปี ก็เป็นได้
        ซึ่งตรงกับคุณยายล้อม จ้องก่า ได้เล่าว่า “ชาวนาอ้อส่วนหนึ่งก็ย้ายมาจากวัดห้วยห้าว ซึ่งย้ายมาอยู่ที่ บ้านนาอ้อหมู่ ๕ และหมู่ ๗ ส่วนอีกกลุ่มก็มาจากบ้านวังขอน หลวงพระบางล้านช้าง อีกด้วย” จึงเชื่อได้ว่าชาวนาอ้อส่วนหนึ่งอพยพมาพร้อมกับการสร้างวัดห้วยห้าว 
          นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีกกลุ่ม ได้อพยพเคลื่อนย้ายลงไปอยู่ทางใต้เรื่อยๆ จนกระทั่งได้มีการจับจองที่ทำกินอยู่ที่บ้านปากพาน (บริเวณที่น้ำพานไหลงลงสู่แม่น้ำเลย)และบ้านขั้นใดใหญ่ จากหนังสือ ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อของสุจินต์ เพชรดีมีใจความตอนหนึ่งกล่าวว่าบ้านขั้นบันใดใหญ่ก็คือ “บ้านหนองมะผาง” ในปัจจุบัน ทว่าจากการสอบถามจากชาวบ้านโพนกับพบว่าบ้านขั้นใดใหญ่แท้จริงแล้วคือบริเวณวัดห้วยห้าวหรือเป็นเชื่อวัดขั้นบันไตใหญ่ วัดห้วยห้าว ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำเลยซึ่งจะมีการสร้างขั้นบันใดลงมาสู่แม่น้ำเลยไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ ดังนั้นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นจึงถูกเรียกชื่อว่าบ้านขั้นใดใหญ่จากการศึกษาพื้นที่ปัจจุบันบันพบว่ามีร่องรอยหลักฐานที่ชี้ชัดว่าบ้านขั้นใดใหญ่เป็นที่ตั้งของวัดห้วยห้าวที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดขั้นบันไดใหญ่และหมู่บ้านที่ตั้งตรงบริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่าบ้านขั้นบันใดใหญ่ปัจจุบันยังหลงเหลือขั้นบันใดที่สร้างจากอิฐแดงหลงเหลืออยู่ปรากฏร่องรอยเด่นชัดและ       บ้านหนองมะผาง สันนิษฐานได้ว่าตั้งขึ้นตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีต้นมะผาง (มะปราง) จำนวนมากชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า “บ้านหนองมะผาง” ซึ่งตรงกับที่ยายล้อม จ้องก่าเรียบเรียงไว้ว่า บ้านหนองมะผางมีต้นมะผางขนาดใหญ่ต้นหนึ่งชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านหนองมะผาง
          จึงสรุปได้ว่าชาวนาอ้อดั้งเดิมนั้นเกิดจากการอพยพรวมกลุ่มของผู้คนหลายๆกลุ่มส่วนบ้านขั้นบันใดใหญ่นั้นไม่ใช่ชื่อของหมู่บ้านหนองมะผางในปัจจุบัน

. การอพยพครั้งที่ ๑
          กลุ่มชาวบ้านวังขอนเริ่มก็ตั้งชมชนเล็กๆอยู่นั้น ก็มีการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่  ๒๐ ปีขึ้นไปเป็น “ทหารบ้าน” ทำการปราบศึกฮ่อที่เชียงขวางตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ ทั้งหมู่บ้านเหลือไว้แต่คนชรา    ผู้หญิง และลูกเล็กเด็กแดง ระหว่างที่ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบทัพจับศึกนั้นได้เกิดไข้ทรพิษ (โรคฝีดาษ) ระบาดขึ้นในหมู่บ้านวังขอน ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ล้มตาย  เป็นจำนวนมาก เพราะโรคนี้ไม่มีทางรักษาได้ในสมัยนั้น
          จากการที่ขาดผู้ชายที่เป็นผู้นำหมู่บ้านและเกิดโรคระบาดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้าน  ที่เหลืออยู่ขาดขวัญกำลังใจและกลัวจะติดโรค จึงได้อพยพมาทางใต้เรื่อยๆ จนมาพบแหล่งอุดมสมบูรณ์แห่งใหมุ่ คือบริเวณที่ราบลุ่ม ริมฝั่งหนองน้ำมีพงอ้ออยู่รอบหนองและบริเวณหนองเป็น ที่ราบลุ่มจึงเป็นชื่อบ้าน เรียกว่าบ้านหนองอ้อ
          จากการศึกษาไม่พบหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับหมู่บ้านวังขอนในปัจจุบันแต่สันนิฐานว่าบ้านวังขอนอยู่ทางทิศเหนือของบ้านนาอ้อ ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของยายล้อม จ้องก่า  ว่า “จากการเล่าต่อๆกันมาเข้าใจว่าบ้านวังขอนเดิมอยู่บริเวณตรงค่ายศรีสองรักในปัจจุบัน”
          หลังจากเสร็จการปราบศึกฮ่อแล้วชายฉกรรจ์ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารก็ได้กลับมาบ้านหาครอบครัวแต่กลับพบว่าหมู่บ้านที่ตนเคยอาศัยอยู่กลายเป็นหมู่บ้านร้างไปแล้ว จากนั้นชายฉกรรจ์ก็ได้ตามหาลูกเมียของตนจนเจอแล้วจึงได้แผ้วถางป่า บุกเบิกทำที่ดินโดยรอบหนองอ้อจนกลายเป็นท้องนา และได้ประชุมลงมติเพื่อตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านนาอ้อ” มาจนถึงปัจจุบัน

.การศาสนา
          ชาวบ้านนาอ้อมีความขยันขันแข็งชั่วเวลาไม่ถึง ๒ ปี ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างถิ่น โดยการซื้อควายทีละมากๆเพื่อที่จะมาใช้แรงงาน จึงทำให้เกิดผู้นำท้องถิ่นที่มีฐานะดีและได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆและได้ผนึกกำลังกันสร้างวัดประจำบ้านนาอ้อ จากหนังสือ ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐาน บ้านนาอ้อของสุจินต์ เพชรดีกล่าวว่าวัดประจำบ้านนาอ้อแห่งแรกคือ  วัดใหญ่หรือวัดศรีจันทร์ จากข้อมูลของวัฒนธรรมจังหวัดเลยกลับพบว่าวัดศรีจันทร์สร้างขึ้นในราว พ.ศ.๒๓๗๕   จากการสัมภาษณ์พระครูประภัศร์ จันทโชติ เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ได้ทราบว่าเดิมนั้นบ้านนาอ้อมีวัดเดียวคือวัดศรีชมชื่น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ โดยชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้นเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าวัดน้อยบ้านม่วง และจากการสัมภาษณ์ยายล้อม จ้อก่าก็พบว่า เดิมนั้นวัดศรีชมชื่นชื่อวัดน้อยนาม่วงเพราะบริเวณนั้นมีแต่ป่ามะม่วง พระสงฆ์เดินทางมาปฎิบัติธรรมที่บริเวณนั้น ชาวบ้านจึงสร้างวัดชั่วคราวขึ้นเป็นเพียงรั้วไม้ธรรมดาก่อนที่ชาวบ้านจะสร้างวัดศรีจันทร์
          จากข้อมูลข้างต้นอาจเป็นได้ว่าเมื่อมีการสร้างวัดศรีชมชื่นหรือวัดน้อยนาม่วงขึ้นแล้วด้วยความต้องการของชาวบ้านอีกกลุ่มที่ต้องการสร้างวัดขึ้นใหม่อีกเพราะชาวบ้านอีกกลุ่มอยู่ไกลวัดการเดินทางมาทำบุญไม่สะดวกจึงได้สร้างวัดใหม่ขึ้นมาเรียกชื่อว่าวัดใหญ่  ซึ่งสร้างใหญ่กว่าวัดเดิมและต่อมาเรียกวัดใหญ่นาอ้อ และเรียกวัดศรีจันทร์ หลังจากสร้างวัดศรีจันทร์หรือวัดใหญ่นาอ้อ
          วัดศรีจันทร์ในระยะแรกๆไม่มีพระสงฆ์เข้ามาจำพรรษา บังเอิญมีพระธุดงค์ ผ่านมาปักกรด อยู่ท้ายหมู่บ้าน ทั้งยังหอบหนังสือใบลาน ซึ่งเป็นอักษรไทยน้อย บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตำราสู่ขวัญ มาเผยแผ่ให้ชาวบ้านมากมาย ชาวบ้านจึงนิมนต์พระธุดงค์ดังกล่าวมาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งรู้จักกันในนามเจ้าพ่อเมืองขวา ซึ่งเป็นชาวนครพนม ทำให้ชาวบ้านมีขวัญและกำลังใจพร้อมกับพากันมาทำบุญที่วัดอย่างล้นหลาม ในระยะต่อมาได้นิมนต์พระครูพา (พระครูวิจารณ์ สังขกิจ) เป็นชาวเมืองเลยแห่งบ้านปากหมาก มาเป็นเจ้าอาวาสแทนพระธุดงค์ ที่อำลาญาติโยมกลับภูมิลำเนาตน
          หลังจากมีการสร้างวัดขึ้นทั้งสองวัดแล้วนั้นชาวบ้านก็มีการการจัดสรรป่าดงดิบบางส่วนไว้เป็นป่าช้า และเป็นที่ตั้งของ “หอเจ้าบ้าน” “ศาลาเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน ปัจจุบันเรียกว่า  “หอเจ้าปู่คำแดง”๑๐
         
.การปกครอง
          ในระยะแรกๆที่ชาวนาอ้อ อพยพมาจากหลวงพระบางและเวียงจันทร์นั้น ระบอบการปกครองตำบลยังต้องอาศัย “ตาแสง” ของ คือนายกองซึ่งเป็นผู้เก็บส่วยผ้าขาวหัวละ ๑ วาจากชายฉกรรจ์อายุระหว่าง ๒๐-๖๐ ปี หลังจากที่ตำแหน่งตาแสงว่างลงจึงให้พ่อโซ้น  เป็นตาแสงชึ่งเป็นคนนาอ้อ๑๑ จากนั้นได้มีการสำรวจไพร่พลของพระยาท้ายน้ำ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ยกบ้านแฮ่ขึ้นเป็นเมืองเลยจึงทำให้นาอ้อขึ้นตรงต่อเมืองเลย ถูกบรรจุไพร่พลอยู่ในราชอาณาจักรสยาม จึงเปลี่ยนจากการส่งส่วยผ้าขาวมาเป็นส่งส่วยรายหัว ปีละ ๔ บาท จากชายฉกรรจ์ที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป ทำให้ชาวบ้านบ่นไปตามๆกันเพราะเงิน ๔ บาทในสมัยนั้นหายากมาก ๑๒                  
          ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๕ พระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้จัดระเบียบการปกครองในระดับตำบล ซึ่งมีกำนันเป็นผู้ปกครอง และระดับหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านปกครองทำให้นาอ้อเป็นยกสถานะเป็นตำบลนาอ้อ๑๓

. กำนันและผู้ใหญ่บ้านคนแรก
          จากการที่บ้านนาอ้อ มีการค้าขายกับต่างเมือง มีพระเป็นผู้สอนหนังสือทำให้เกิดผู้นำมากมายแต่ละคนมีบุคลิกที่แตกต่างตามกันไป ซึ่งผู้นำมีลักษณะแบบไหนชาวบ้านก็มีลักษณะแบบนั้นตาม
          สำหรับกำนันและผู้ใหญ่บ้านคนแรกของนาอ้อได้แก่๑๔
          ๑.กำนันคนแรกคือ ขุนราชเสนา เป็นคนชัยภูมิโดยกำเนิด แต่ได้มามีครอบครัวอยู่บ้านนาอ้อ เป็นคนพูดดัง ฟังชัด แม้สำเนียงจะแปลกแต่ก็ทุ่มเทให้ชาวนาอ้อด้วยความเต็มใจ ขุนราชเสนาเป็นคนฉลาด มีลักษณะผู้นำ และคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านเป็นประจำมีการนำชาวบ้านเข้าวัดฟังธรรมทุกวันพระ ท่านจึงได้รับเลือกให้เป็นกำนันคนแรก
          ๒.ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ โพศาราช ซึ่งเป็นนักเล่านิทานตัวโยงมีความรู้รอบตัว  ในด้านการเกษตร หมอยาโบราณ เป็นหมอดูสมัครเล่น

.วีรกรรมบ้านนาอ้อ
          จากหนังสือ ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อของสุจินต์ เพชรดีกล่าวว่า   ในสมัยรัชการที่ ๕ ประมาณ พ.ศ.๒๔๑๔ ฝรั่งเศสนำโดยนายยังมาร์กส์ ปิแอร์ ยึดดินแดน  ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไว้เกือบทั้งหมด รวมทั้งเมืองเชียงคานเก่า คือ เมืองสานะคาม อยุ่ฝั่งตรงข้ามเมืองเชียงคานปัจจุบัน๑๕ จากเอกสารประวัติเมืองเลยของกระทรวงมหาดไทยพบว่า ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดเมืองเชียงคาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ (รศ.๑๑๒) จากข้อมูลข้างต้นทางผู้ศึกษาได้วิเคราะห์แล้วว่า เหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดดินแดนและไทยต้องเสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ หรือ รศ.๑๑๒ จึงเชื่อได้ว่าเหตุการณ์วีรกรรมบ้านนาอ้อเกิดขึ้นหลัง พ.ศ.๒๔๓๖ ไม่ใช่ พ.ศ.๒๔๑๔  
          ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อฝรั่งเศสยึดเมืองเชียงคานเก่าได้แล้ว ชาวเมืองเชียงคานไม่พอใจ  และด้วยความรักอิสรเสรี รักความเป็นไทย จึงพร้อมใจกันอพยพข้ามมาตั้งเมืองที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเยื้องกับเมืองเดิมไปทางเหนือเล็กน้อย เมืองที่ตั้งใหม่เรียกว่า เมืองใหม่เชียงคาน คือที่ตั้งอำเภอเชียงคานปัจจุบัน ราษฎรที่อพยพข้ามมาครั้งนั้นไม่มีผู้ใดเกลี้ยกล่อมหรือบังคับ ทุกคนข้ามมายังดินแดนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยด้วยความเต็มใจ  ไม่พอใจที่จะอยู่ภายใต้  การปกครองของคนต่างชาติ ประมาณว่าผู้คนอพยพมาครั้งนั้นประมาณ ๔ ใน ๕ ของเมืองเชียงคานเดิม หัวหน้าผู้อพยพครั้งนั้นได้แก่ พระอนุพินาศเจ้าเมืองเชียงคาน๑๖
                ไม่นานฝรั่งเศสคิดเหิมเกริม ได้นำทหารฝรั่งเศสจำนวน ๑๒ นาย เป็นหัวหมู่ พร้อมด้วยทหารลาวและญวน จำนวนหนึ่งได้ต่อแพข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองเชียงคานใหม่ ที่ขึ้นตรงต่อไทยเพื่อหนังที่จะยึดเมืองเชียงคานใหม่ พร้อมกับเผชิญหน้าพระยาศรีอัครฮาต เจ้าเมืองเชียงคานใหม่ ทหารฝรั่งเศสขู่บังคับให้ยกเมืองเชียงคานให้ฝรั่งเศสแต่เจ้าเมืองไหวตัวทัน ให้รองเจ้าเมืองรับหน้าแทนส่วนเจ้าเมืองนั้น ไปขอกำลังทหารจากค่ายประจักษ์ศิลปาคม มาปราบ รองเจ้าเมืองก็ใช้อุบายแนะนำให้ฝรั่งเศสยึดยึดเมืองเลยก่อน ถ้ายึดเมืองเลยเป็นของฝรั่งเศสได้แล้ว ทางเมืองเชียงคานก็ไม่มีปัญหาอะไร๑๕
          จากนั้นฝรั่งเศสก็ได้เดินทางหมายมุ่งที่จะยึดเมืองเลยให้ได้ ระหว่างทางได้พบ อินทจักษ์นายฮ้อยค้าควายชาวนาอ้อ ทหารฝรั่งเศสจึงได้ร้องตระโกนใส่เสียงดังและชักถามแกมขู่ ซึ่งมีล่ามภาษาแปลเป็นไทยว่า “เจ้าเดินทางรุกร้ำเข้ามาดินแดนของฝรั่งเศสโดยไม่ได้รับอนุญาต” จากหนังสือ ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อของสุจินต์ เพชรดีกล่าวว่าเมื่อทหารฝรั่งเศส ตระโกนใส่อินทจักษ์แล้ว จากนั้นกลางแผนที่ให้ดูปรากฏว่าแผนที่นั้น แผ่คลุมเข้ามาในเขตไทยหลายหมู่บ้าน รวมทั้งบ้างนาอ้อ บ้านก้างปลา บ้านนาบอนหัวฝายจึงทำให้อินทจักษ์งงและยอมจำนนโดยง่าย จากนั้นก็เกลื้อกล่อมให้อินทจักษ์พาเข้าไปหมู่บ้านไปเกลื้อกล่อมคนในหมู่บ้านนาอ้อเข้ามาเป็นพวกตนว่า“ถ้าชาวนาอ้อยินยอมเข้าร่วมกับฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจะตั้งบ้านนาอ้อเป็นนครหงส์”๑๖
          จากการศึกษาพบข้อสังเกตว่า ในสมัย พ.ศ.๒๓๓๖ นั้นทางประเทศไทยยังมีความรู้ ด้านการทำแผนที่ และมีคนอ่านแผนเป็นจำนวนไม่มาก ซึ่งผู้ที่อ่านแผนที่ได้จะต้องเป็นข้าราชระดับสูง หน่วยงานราชการ หรือชาวต่างชาติเท่านั้น ในประเทศไทยมีการเริ่มทำแผนที่ใน  ปี พ.ศ.๒๔๑๘ ดังนั้น ในกรณีนายฮ้อยค้าควายนี้อ่านแผนที่ และสามารถระบุตำแหน่งของแผนที่ได้อย่างแม่นยำนั้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับข้อมูลข้างต้น
          จากหนังสือ ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อของสุจินต์ เพชรดีกล่าวว่าจากนั้น  กองทหารฝรั่งเศสก็เดินทางเข้าสู่บ้านนาอ้อและตั้งค่ายที่วัดศรีชมชื่น ระหว่างนั้นก็ได้จ้าง ชาวบ้านเป็นสายสืบ และเกื้อกล่อมให้ชาวบ้านมาร่วมมือในการเข้ายึดเมืองเลย โดยมีชาวบ้านหลายรายหลงเชื่อแต่มีชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยพร้อมทั้งหาทางส่งข่าวไปบอกเจ้าราชบุตร ที่เมืองเลยมาช่วย ไม่กี่วันเจ้าราชบุตรก็ได้ส่งกำลังทหารและชาวบ้านช่วยกันต่อสู้กับกองทหารฝรั่งเศสอย่างบ้าระห่ำจนทำให้ฝรั่งเศสแตกกระเจิงหนีไปตั้งค่ายอยู่ที่บ้านโพน๑๗ มีผู้ให้ข้อมูลหลายท่านให้ข้อมูลว่ากองทหารฝรั่งเศสตั้งค่ายอยู่ที่วัดศรีจันทร์โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดศรีจันทร์ เป็นศูนย์บัญชาการ จันทะนี คามะดากล่าวว่า “กองโจรฝรั่งเศสมาตั้งค่ายที่วัดศรีจันทร์  เพราะมีการสร้างส้วมขึ้นเพื่อใช้ในค่ายทหาร” ล้อม จ้องก่า ให้ข้อมูลว่า “กองโจรฝรั่งเศสแยกออกเป็นสองกอง กองแรกระดับหัวหน้าไปตั้งค่ายอยู่ที่วัดศรีจันทร์ ส่วนกองที่สองทหารที่ติดตามมา ทหารญวน ทหารลาว ได้ใช้วัดศรีชมชื่นเป็นค่ายพัก”
          จากการศึกษาพบว่าหลักฐานที่ชี้ชัดว่าฝรั่งเศสตั้งค่ายอยู่วัดศรีจันทร์ คือ ส้วมที่ทหารฝรั่งเศสสร้างขึ้น และที่เขี่ยบุหรี่ทองเหลือง ปัจจุบันยังอยู่ และส่วนหลักฐานว่าฝรั่งเศสตั้งค่ายอยู่วัดศรีชมชื่นนั้นไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงแต่มีชาวบ้านให้การยืนยันเท่านั้น

๑๐.บ้านโพนค่ายฝรั่งเศส
          จากการที่กองทหารฝรั่งเศสหนีตายจากการโจมตีของทหารเมืองเลยและชาวบ้านนาอ้อ แล้วกองทหารฝรั่งเศสได้ไปตั้งค่ายที่บ้านโพนเพื่อที่จะแก้แค้นชาวนาอ้อ  ต่อมาชาวบ้านนาอ้อ     และทหารจากเมืองเลยได้เข้ามาโจมตีไหล่ล่าฝรั่งเศสจนทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสเสียชีวิตและหนีตายจำนวนมากส่วนฝ่ายไทยมีทหารตายหนึ่งคนชื่อทหารปลื้มเป็นทหารค่ายประจักษ์ศิลปาคมเสียชีวิตขณะบุกบังเกอร์กองโจรฝรั่งเศส๑๘

๑๑.การถูกข้อครหาว่าเป็นกบฏแผ่นดิน
          การที่ทหารปลื้มเสียชีวิตจากการส่อสู้กบฝรั่งเศสในครั้งนี้ทำให้เจ้าราชบุตร ไม่พอใจอย่างมากถึงกับ ประกาศเอาผิดกับชาวนาอ้อที่ทำทีเข้าข้างฝรั่งเศส ทำให้ชาวนาอ้อที่ทำหน้าที่กู้ชาติแบบปิดทองหลังพระต้องร้องไห้โฮและรีบแจ้งข่าวร้ายต่อๆกันนักกู้ชาติชาวน้าอ้อทั้งหมดก็ร้อนตัวคิดจะหนีท่าเดียวเพราะสภาวการณ์บ้านเมืองขณะนั้นย่อมไม่มีทางที่จะอ้างเหตุผลเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากใครได้๑๙

๑๒.โพนค่ายค่ายทหาร
          แม้การกวาดล้างกองทหารฝรั่งเศสจะจบลง แต่เจ้าราชบุตรหัวหน้าหน่วยปราบปรามของไทยก็มิได้ประมาท หากแต่มีการสร้างค่ายคูหอรบ และจัดเวรยามลาดตะเวนเป็นประจำมีการปลูกหอคอยดัวยไม้ไผ่ทั้ง ๔ ทิศ สั่งจัดเวรยามให้มีการตีเกราะแจ้งเวลา บ้านโพนในระยะนั้นจึงได้กลายเป็นค่ายทหารโดยปริยาย ถึงกับมีชื่อในค่ายปัจจุบันว่า “บ้านโพนค่าย”

๑๓.การอพยพครั้งที่ ๒
          หลังจากที่เจ้าราชบุตรหมายที่จะเอาผิดกับชาวนาอ้อ ทำให้นักรบผู้รักชาติชาวนาอ้อ  พากันอพยพหนีตายข้ามแม่น้ำโขง ไปอยู่ที่เมืองสานะคาม และหมู่บ้านตากแดด ซึ่งอยู่ตรงข้าม กับเมืองเชียงคานใหม่ นอกเขตราชอาณาจักรไทย เป็นระยะเวลาเกือบ ๗ ปี ที่ชาวนาอ้อ อยู่ในสภาวะที่ขื่นขม จึงได้มีการประกาศนิรโทษกรรมและรับรองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จากนั้นชาวนาอ้อส่วนใหญ่ก็ได้อพยพกลับบางส่วนก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่สานะคามอย่างถาวร๒๐


เชิงอรรถ

.สุจินต์ เพชรดี. (ม.ป.ป.). ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อ. หน้า ๑
.จารึกวัดห้วยห้าวหลักที่ ๑
.ล้อม  จ้องก่า. (สัมภาษณ์). ๑๖ พศจิกายน ๒๕๕๗.
.สุจินต์ เพชรดี. (ม.ป.ป.). ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อ. หน้า ๓
.เรื่องเดียวกัน. หน้า ๔
.จันทนี  คามะดา. (สัมภาษณ์). ๑๖ พฤจิกายน ๒๕๕๗
.สุจินต์ เพชรดี. (ม.ป.ป.). ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อ. หน้า ๕
.เรื่องเดียวกัน. หน้า ๕
.พระครูประภัศร์ จันทโชติ. (สัมภาษณ์). ๑๕ พฤจิกายน ๒๕๕๗
๑๐.จันทนี  คามะดา. (สัมภาษณ์). ๑๖ พฤจิกายน ๒๕๕๗
๑๑.สุจินต์ เพชรดี. (ม.ป.ป.). ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อ. หน้า ๖
๑๒.กระทรวงมหาดไทย. (ม.ป.ป.). ประวัติส่วนภูมิภาค: จังหวัดเลย. หน้า ๒
๑๓.เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒
๑๔.สุจินต์ เพชรดี. (ม.ป.ป.). ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อ. หน้า ๖
๑๕.เรื่องเดียวกัน. หน้า ๖
๑๖.ล้อม  จ้องก่า. (สัมภาษณ์). ๑๖ พศจิกายน ๒๕๕๗.
๑๗.สุจินต์ เพชรดี. (ม.ป.ป.). ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อ. หน้า ๗
๑๘.จันทนี  คามะดา. (สัมภาษณ์). ๑๖ พฤจิกายน ๒๕๕๗
๑๙.ล้อม  จ้องก่า. (สัมภาษณ์). ๑๖ พศจิกายน ๒๕๕๗.
๒๐.สุจินต์ เพชรดี. (ม.ป.ป.). ๓๐๐ ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานบ้านนาอ้อ. หน้า ๑๐

หมายเหตุ** การคัดลอกข้อมูลจากบทความเรื่องนี้ควรอ้างอิงอย่างถูกต้อง
ลิขสิทธิ์สาขาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

วัดห้วยห้าว ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ธันวาคม 10, 2557 0 Comments

     วัดห้วยห้าว หรือ วัดขั้นบันใดใหญ่หรือวัดวังแท่น สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระโพธิศาลราชเจ้า พ.ศ.2063-2090 ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ประกาศขยายเนื้ออที่วัดเพิ่มเติม พ.ศ.2150 ซึ่งมีกษัตริย์ล้านช้างบูรณะปฏิสังขรณ์เสมอมา จึงสันนิฐานได้ว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดหลวงที่สำคัญอย่างยิ่งวัดหนึ่ง และจากข้อมูลการสำรวจเท่าที่มีอยู่ ปรากฏว่าวัดห้วยห้าวเป็นวัดของกษัตริย์ล้านช้างเพียงวัดเดียวในจังหวัดเลย

บริเวณอุโบสถ 


บ่อน้ำสร้างใกล้ลำน้ำพาน


ร่องรอยบันใดทอดลงแม่น้ำเลย